สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน
ผมเข้าใจว่าเนื่องจากเมื่อโพสต์ที่แล้วของผมนั้นเกี่ยวข้องกับงานธรณีเทคนิคจึงมีเพื่อนวิศวกรท่านหนึ่งหลังไมค์มาสอบถามผมเกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ทุกคนเลยนำมาแชร์ให้กับเพื่อนๆ ด้วยนะครับ
เรื่องนั้นก็คือประเภทของดินว่ามีกี่ชนิด และ แต่ละชนิดว่ามีคุณสมบัติอะไรที่โดดเด่นและมีความแตกต่างกันอย่างไรนะครับ
ผมขอตอบแบบนี้นะครับ ลักษณะของดินสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยลักษณะความแตกต่างกันของดินทั้ง 2 ประเภทนี้ก็คือ ขนาดของเม็ดดิน และ คุณสมบัติของค่า c หรือ ค่าหน่วยแรงยึดเหนี่ยวของมวลดิน และค่า Ø หรือ ค่ามุมเสียดทานภายในของมวลดิน ดิน 2 ประเภทดังกล่าวจะประกอบด้วย
(1) ดินทราย (SANDY SOIL; c=0)
ดูรูปที่ 1 ประกอบนะครับ ดินทรายจะประกอบด้วยเม็ดดินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดินชนิดนี้จะไม่มีความเชื่อมแน่น (COHESIONLESS SOIL) หรือ ไม่มีแรงยึดเกาะกันระหว่างเม็ดดินนั่นเอง (NON-COHESIVE SOIL) ดินชนิดนี้จะไม่พองตัว และหากได้รับการบดอัดจนแน่นจะทำให้ดินชนิดนี้จะสามารถรับแรงแบกทานได้ดี จุดด้อยของดินชนิดนี้ก็คือน้ำจะสามารถซึมผ่านได้โดยง่าย ดังนั้นอาจมีปัญหาเรื่องการพังทลายของดินได้
(2) ดินเหนียว (CLAYEY SAND; ค่า Ø=0)
ดูรูปที่ 2 ประกอบนะครับ ดินเหนียวจะประกอบด้วยเม็ดดินที่มีความละเอียด ดินชนิดนี้จะมีความเชื่อมแน่น (COHESIVE SOILS) หรือ มีแรงยึดเกาะกันระหว่างเม็ดดิน น้ำซึมผ่านได้ยาก มีการยืด และ สามารถพองตัวได้ (HEAVE) ซึ่งจะทำให้ดินชนิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาตรได้ และ ความสามารถในการต้านทานแรงเฉือนของดินจะขึ้นอยู่กับแรงเชื่อมแน่นระหว่างมวลดินนั่นเอง
โดยวิธีในการจำแนกระหว่างดินทรายและดินเหนียวก็คือการนำดินไปร่อนผ่านตะแกรง หากดินใดที่สามารถร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 200 ได้ (ขนาดเล็กกว่า 0.002 mm) ก็จะถูกจำแนกไว้เป็นดินเหนียวนั่นเอง
วันพรู่งนี้ผมจะมาเล่าให้เพื่อนๆ รับฟังถึง PARAMETER ที่สำคัญของดินแต่ละชนิดและประเภทที่ได้จากการทำการทดสอบ (BORING LOG) ที่เราจะนำข้อมูลดินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบทางด้านกำลังดินกันนะครับ
หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ
ADMIN JAMES DEAN